เรื่องโดย ฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th
ให้สัมภาษณ์โดย ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ข้อมูลจากบทความ พญ.รุ่งทิพย์ ด่านศิริกุล แพทย์ผู้ชำนาญด้านเบาหวาน และหนังสือเรื่องกลุ่มโรค NCDs โรคที่คุณหยุดมันได้เอง
ภาพโดย นัฐพร ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ
“เมื่อคืนผมลุกฉี่บ่อยมาก ที่โถฉี่ก็มีมดขึ้นด้วย” !! …จงอย่าได้นิ่งนอนใจ เพราะนั้นอาจเป็นสัญญาณเตือนให้รู้ว่า คุณกำลังเสี่ยงที่จะเป็น “โรคเบาหวาน”
หลายคนคงเคยเห็นป้ายหน้าห้องน้ำ เขียนแปะติดไว้ว่า “ถ่ายหนัก ถ่ายเบา” ซึ่งหมายถึงการขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ โดยคำว่า “เบา” คือการถ่ายปัสสาวะ ดังนั้นคำว่า “เบาหวาน” จึงหมายถึง “ปัสสาวะที่มีรสหวานจนบางครั้งมีมดขึ้น ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “โรคเบาหวาน” นั่นเอง
“ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์” นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย อธิบายว่า โรคเบาหวาน เป็นหนึ่งในกลุ่มโรค NCDs หรือ non-communicable diseases เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต หากเป็นแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ !!
แต่สามารถป้องกันได้ง่าย ๆ เพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดอาหารหวานจัด เค็มจัด มันเยอะ เน้นการกินผักสดและผลไม้ หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ ถือเป็นเรื่องที่ทุกคนควรตระหนักไว้ เพื่อปฏิบัติตนให้เหมาะสมและห่างไกลจากโรคในกลุ่ม NCDs
“โรคเบาหวาน เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา”
มีความบกพร่องของการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน ที่สร้างมาจากตับอ่อน ทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่เกณฑ์ปกติ และยังทำหน้าที่ช่วยนำน้ำตาลในร่างกายออกมาใช้เป็นพลังงาน
เมื่อมีอินซูลินไม่เพียงพอ หรือมีปริมาณพอแต่ไม่สามารถออกฤทธิ์ได้เต็มที่ น้ำตาลก็จะไม่ถูกนำไปใช้และคงอยู่ในเลือด ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง หรือตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะได้
ผู้ป่วยจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าคนทั่วไป โดยปกติแล้วคนทั่วไปจะมีระดับน้ำตาลน้อยกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แต่ในคนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานจะมีระดับน้ำตาลเท่ากับ หรือสูงกว่า 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
อาการของผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานจะปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะในเวลากลางคืน และกระหายน้ำมากกว่าปกติ น้ำหนักลดมากกว่าปกติ และปลายมือปลายเท้าชา หากเบาหวานขึ้นตา อาจเกิดการมองเห็นที่พร่ามัว
โรคเบาหวาน ป้องกันได้โดยการควบคุมพฤติกรรมการทานอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารหวานจัด เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน ขนมหวานต่าง ๆ โดยให้ลดปริมาณการทานลง หรือลดปริมาณน้ำตาลลง อาจออกกำลังกายร่วมด้วยเพื่อช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
ในผู้ป่วยโรคเบาหวานสิ่งที่สำคัญมาก คือ การควบคุมระดับน้ำตาล หากควบคุมได้ไม่ดี อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเฉียบพลัน อาจทำให้เกิดภาวะเลือดเข้มข้นหรือเลือดเป็นกรด เป็นผลให้หมดสติหรืออาจเข้าขั้นโคม่าได้
หรืออาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ จนชักหรือหมดสติจากการคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ดี ในบางรายมีอาการเบาหวานลงไปที่ไตหรือเบาหวานขึ้นตา ทำให้ไตวายหรือตาบอดในอนาคต ถือเป็นภาวะที่อันตราย
ขณะที่ “พญ.รุ่งทิพย์ ด่านศิริกุล” แพทย์ผู้ชำนาญด้านเบาหวาน ให้ข้อมูลว่า โรคเบาหวานไม่เพียงส่งผลกับคุณภาพชีวิต แต่ยังอาจรุนแรงมากขึ้นหากไม่ได้รับการดูแลที่ดี เพราะฉะนั้นการป้องกันก่อนเกิดเบาหวานคือสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะคนในครอบครัว
อย่างไรก็ตาม สมาชิกในครอบครัวนั้นมีหลากหลายวัย ดังนั้น ในแต่ละช่วงวัยการดูแลให้ห่างไกลเบาหวานจึงมีความแตกต่างกัน โดยแบ่งออกเป็น 4 วัย ดังนี้
1) วัยเด็กถึงเด็กประถม
> พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสม
> ระวังน้ำตาล แป้ง และไขมัน
> เน้นให้ลูกดื่มน้ำเปล่าและนมรสจืด แทนน้ำหวานและน้ำอัดลม
> สอนให้ลูกออกกำลังกายสม่ำเสมอ ออกกำลังกายกับลูกหลังเลิกเรียน
> เด็กอายุมากกว่า 10 ปีที่มีภาวะอ้วน ควรได้รับการตรวจระดับน้ำตาลและวินิจฉัยโรคเบาหวาน
2) วัยรุ่น
> ปลูกฝังพฤติกรรมการกิน เน้นโปรตีน ผักและผลไม้ ลดแป้ง น้ำตาล และไขมัน
> ระวังน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์
> เน้นย้ำการออกกำลังกายเป็นประจำ
> หากลูกติดเกม ติดโซเชียล ชอบนอนดูทีวี ต้องแนะนำให้ลูกทำกิจกรรมและใช้เวลาให้เหมาะสม
3) วัยทำงาน
> ควบคุมการทานอาหาร ระวังน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์
> ระวังปริมาณแป้งและน้ำตาลในแต่ละวัน
> อย่าละเลยการออกกำลังกาย ควรทำให้ได้สัปดาห์ละ 5 วัน ครั้งละไม่ต่ำกว่า 30 นาที
> ตรวจสุขภาพและตรวจเช็กเบาหวานเป็นประจำ
> หากต้องการมีบุตรจะต้องปรึกษาแพทย์เฉพาะทางอย่างละเอียด เพราะผู้หญิงมีโอกาสเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ นอกจากนี้ในผู้หญิงที่เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เพิ่มโอกาสการเป็นเบาหวานในอนาคตได้ ซึ่งต้องดูแลอย่างระมัดระวังมากกว่าผู้หญิงทั่วไป
> ถ้ามีกรรมพันธุ์คนในครอบครัวเคยเป็นโรคเบาหวาน จะมีโอกาสเป็นโรคนี้เพิ่มขึ้น
> ความเสี่ยงในการเป็นเบาหวานจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากความเสื่อมของร่างกายตามวัย
4) วัยสูงอายุ
> ระวังการทานแป้งและน้ำตาล ควบคุมปริมาณน้ำตาลในแต่ละวันอย่างเคร่งครัด
> เน้นทานผักผลไม้ที่มีไฟเบอร์หรือใยอาหารสูง เพราะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด
> ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เน้นกีฬาที่ช่วยเพิ่มกล้ามเนื้อ เช่น ยกเวท โยคะ เป็นต้น
> ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
> ตรวจเช็กเบาหวานเป็นประจำทุกปี
> หากป่วยเป็นเบาหวานต้องดูแลตนเอง และทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
เทคนิคง่าย ๆ ป้องกันเบาหวาน
> บริโภคน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชา หรือ 24 กรัมต่อวัน
> เลือกทานผลไม้น้ำตาลต่ำ เช่น ฝรั่ง มะละกอ ส้ม มะม่วงดิบ ส้มโอ แอปเปิ้ลเขียว เป็นต้น
> ลดหรืองดชา กาแฟ น้ำอัดลม ขนมหวาน ทานได้สัปดาห์ละครั้ง
> เลือกทานคาร์โบไฮเดรตไม่ขัดสี กากใยสูง เช่น ข้าวซ้อมมือ ถั่วเมล็ดแห้ง เป็นต้น
> อ่านฉลากข้างผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อพิจารณาปริมาณน้ำตาลที่แน่นอนก่อนซื้อมาทาน
> การแปรงฟันหรือบ้วนปากทันทีหลังอาหาร ช่วยลดความอยากของหวานหลังอาหารได้
> ออกกำลังกายให้เป็นนิสัยในทุกช่วงวัย
> หมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย และตรวจเช็กเบาหวานเป็นประจำ
เนื่องในวันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี สำหรับครอบครัวที่มีผู้ป่วยเบาหวาน อยากให้ทุกคนในครอบครัวให้กำลังใจ และดูแลอาหารผู้ป่วยเบาหวานอย่างระมัดระวัง ลดน้ำตาล ลดแป้ง ห้ามใจไม่ให้ทานให้ได้เพื่อการมีสุขภาพที่ดี ส่วนสมาชิกในครอบครัวที่ยังไม่ป่วยเป็นเบาหวาน ควรดูแลกันและเป็นทีมเดียวกันทั้งครอบครัว
“ระวังปริมาณน้ำตาลในอาหารและชวนกันไปออกกำลังกาย ที่สำคัญตรวจเช็กเบาหวานเมื่อถึงวัยที่เหมาะสม หรือตามคำแนะนำของแพทย์”
นอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน การใช้ยาช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดแล้ว การออกกำลังกายก็ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้
สสส. สนับสนุนการออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ ลด ละ เลิกการสูบบุหรี่และดื่มเหล้า เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการป่วยด้วยโรคเบาหวาน และโรคในกลุ่ม NCDs